ในขณะที่หลายคนกำลังชื่นมื่นกับบรรยากาศของวันวาเลนไทน์ รวมถึงอาจจะกำลังกินช็อกโกแลตที่หวานอร่อย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรดังของศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ กลับได้รับของที่ขมชนิดที่มะระยังเทียบไม่ติดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังจากที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศตัดสิทธิ์พวกเขาจากการลงเล่นรายการระดับนานาชาติขององค์กร อย่างเช่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นเวลา 2 ฤดูกาล
สาเหตุที่ แมนฯ ซิตี้ โดนบทลงโทษสถานหนักในครั้งนี้เป็นเพราะ ยูฟ่า ตัดสินว่า แมนฯ ซิตี้ มีความผิดตามที่โดนกล่าวหาว่าปลอมแปลงรายได้ในบัญชีของพวกเขาให้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่โดนตัดสินว่าทำผิดกฎควบคุมการเงิน หรืออย่างน้อยก็ให้ดูว่าไม่ขาดทุนมากเกินไปเพื่อที่จะได้โดนลงโทษสถานเบา โดยขั้นตอนก็มีทั้งการใส่ตัวเลขผิดๆ และเอาเงินจากบริษัทของกลุ่มทุนเจ้าของทีมมาใส่ในบัญชีดื้อๆ แต่ทาง แมนฯ ซิตี้ ก็บอกว่าจะอุทธรณ์กับศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (ซีเอเอส) แน่นอน
กฎควบคุมการเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า ไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์ เป็นกฎที่ ยูฟ่า เริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูกาล 2011-12 เป็นต้นมา โดยจะใช้กับทีมที่ได้ลงเล่นรายการระดับนานาชาติของ ยูฟ่า ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเล่นในลีกของแต่ละประเทศ ส่วนเป้าหมายที่พวกเขาออกกฎแบบนั้นมาก็เพื่อทำให้ทีมที่ได้ลงเล่นรายการต่างๆ ของ ยูฟ่า ไม่โดนเรื่องการเงินมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันมากเกินไป และเป็นการป้องกันไม่ให้แต่ละทีมใช้เงินเยอะเกินเหตุจนอาจจะส่งผลไปสู่การล้มละลายไปในตัว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากฎควบคุมการเงินมันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่บ้างก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ โดยการสั่งแบนถือเป็นหนึ่งในบทลงโทษขั้นร้ายแรงที่สุด เพราะมันมีกฎระดับเบาในกรณีที่มีการละเมิดกฎแค่เล็กน้อย อย่างเช่นการปรับเงินถ้าขาดทุนนิดเดียว เป็นต้น และที่จริงก่อนหน้า แมนฯ ซิตี้ มันก็เคยมีบางทีมในทวีปยุโรปที่โดนแบนจากการลงเล่นรายการของ ยูฟ่า เช่นกัน ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีทีมที่เข้าข่ายทีมดังอยู่ 3 ทีมด้วยกัน
1. มาลาก้า : สเปน (บทลงโทษออกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012)
ในช่วงที่กฎควบคุมการเงินออกมาใหม่ๆ มาลาก้า คือทีมชื่อดังที่สุดที่โดนลงดาบจากกฎนี้ โดยตอนแรกมีกลุ่มมหาเศรษฐีจากกาตาร์ที่นำโดย ชีคห์ อับดุลลาห์ บิน นาสเซอร์ อัล-ธานี่ เข้ามาซื้อทีมเมื่อปี 2010 และมันก็ทำให้ มาลาก้า ช็อปนักเตะแบบสนุกมือ อย่างเช่น รุด ฟาน นิสเตลรอย, ซานติ กาซอร์ล่า, อีสโก้ และ ชูลิโอ บาปติสต้า เป็นต้น ซึ่งมันก็ทำให้พวกเขาจบฤดูกาล 2011-12 ด้วยการเป็นอันดับ 4 ในลีก พร้อมกับได้สิทธิ์เล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร ในซีซั่น 2012-13
อย่างไรก็ตาม อัล-ธานี่ ประกาศตั้งแต่ก่อนที่ซีซั่น 2011-12 จะจบลงแล้วว่าเขาจะไม่ทุ่มเงินให้กับทีมอีกต่อไป เพราะไม่พอใจที่ลีกสเปนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์ทางโทรทัศน์ให้ทีมในลีกแบบไม่เท่าเทียมกัน อย่างเช่นการที่ เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า ได้เงินด้านนี้มากกว่าหลายทีมใน ลา ลีกา เป็นต้น แถมมันยังมีประเด็นด้านสื่ออีก ซึ่งพอขาดเงินของ อัล-ธานี่ ไปแล้วนั้น มันก็ทำให้ มาลาก้า มีปัญหาด้านการเงินจนถึงขั้นค้างค่าเหนื่อยของนักเตะ
ท้ายที่สุดแล้วพอถึงช่วงเดือนธันวาคม ปี 2012 ยูฟ่า ก็ประกาศว่า มาลาก้า จะโดนตัดสิทธิ์จากการลงเล่นรายการระดับทวีปยุโรปของ ยูฟ่า เป็นเวลา 1 ฤดูกาล ถ้าหากพวกเขาได้สิทธิ์ลงเล่นรายการใดๆ ก็ตามของ ยูฟ่า 4 ซีซั่นต่อไป หรือก็คือถ้าเกิด มาลาก้า ได้สิทธ์เล่นรายการของ ยูฟ่า ในซีซั่น 2013–14, 2014–15, 2015–16 และ 2016–17 พวกเขาก็จะอดลงเล่นรายการนั้นๆ
แน่นอน มาลาก้า ก็ยื่นอุทธรณ์กับคำตัดสินของ ยูฟ่า กับทาง ซีเอเอส เหมือนที่ แมนฯ ซิตี้ ทำในตอนนี้ แต่สุดท้าย ซีเอเอส ก็ยืนกรานว่า มาลาก้า ผิดจริงๆ จนทำให้ต้องโดนแบนตามเดิม แถมตอนแรก ยูฟ่า ขู่ว่าจะแบน มาลาก้า เพิ่มอีก 1 ซีซั่นด้วย ถ้าหากไม่สามารถเคลียร์เรื่องการจ่ายเงินให้คนต่างๆ ที่สโมสรยังติดค้างอยู่ได้ทันเส้นตายในวันที่ 31 มีนาคม ปี 2013 ยังดีที่สุดท้าย มาลาก้า เคลียร์เรื่องดังกล่าวได้ทันเวลา
- กาลาตาซาราย : ตุรกี (บทลงโทษออกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2016)
แม้ว่าจะเป็นทีมยักษ์ใหญ่ประจำแดนไก่งวง แต่ กาลาตาซาราย ก็มีปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก โดยเดิมทีพวกเขาก็เคยละเมิดกฎควบคุมการเงินไปในปี 2014 จนทำให้โดนปรับเงิน 200,000 ยูโรไปก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเป็นต้นมาผู้บริหารของทีมก็ยังจัดการเรื่องการเงินได้ย่ำแย่ จนทำให้ในเดือนที่ 3 ของปี 2016 ยูฟ่า ประกาศว่า กาลาตาซาราย จะโดนแบนจากการลงเล่นรายการของพวกเขาถ้าเกิดได้สิทธิ์ลงเล่นรายการใดๆ ก็ตามในฤดูกาล 2016-17 กับ 2017-18
ที่จริงแล้วในดูกาล 2015-16 กาลาตาซาราย ได้แชมป์เตอร์กิช คัพ จนทำให้พวกเขาได้สิทธิ์เล่น ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ในฤดูกาล 2016-17 แต่จากบทลงโทษดังกล่าวมันก็ทำให้พวกเขาโดนริบสิทธิ์นั้น และทีมที่ได้ลงเล่นแทนพวกเขาก็คือ ออสมาลินสปอร์ ที่ได้อันดับ 5 ของศึก ซูเปอร์ลีก ตุรกี ในซีซั่น 2015-16
- เอซี มิลาน : อิตาลี (บทลงโทษออกเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019)
ก่อนหน้าที่ แมนฯ ซิตี้ จะโดนลงดาบในวันแห่งความรัก เอซี มิลาน คือทีมดังที่สุดที่ได้รับบทลงโทษขั้นร้ายแรงจากกฎควบคุมการเงิน โดยที่จริง มิลาน มีตัวแดงในบัญชีขั้นร้ายแรงจนผิดกฎควบคุมการเงินของ ยูฟ่า มาตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ ปี 2017 จากการที่ตอนนั้นพวกเขาใช้เงินในการเสริมทัพไปถึง 200 ล้านยูโร เพื่อแลกกับการเอานักเตะอย่าง เลโอนาร์โด้ โบนุชชี่, อันเดร ซิลวา, ฮาคาน ชัลฮาโนกลู, อันเดรีย คอนติ, ริคาร์โด้ โรดริเกซ และ ลูกัส บีย่า มาร่วมทัพ
ตอนแรก ยูฟ่า สั่งห้าม มิลาน ลงเล่นรายการของพวกเขาแบบทันที 2 ฤดูกาลด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่ มิลาน ไปอุทธรณ์กับ ซีเอเอส แล้วนั้น โทษแบนแบบมีผลในทันทีของพวกเขาก็ลดเหลือ 1 ปี นั่นคือมีผลในฤดูกาล 2019-20 ส่วนอีก 1 ซีซั่นเป็นการคาดโทษเอาไว้ก่อน โดยถ้าหากในเดือนมิถุนายน ปี 2021 มิลาน ไม่สามารถทำให้รายรับกับรายจ่ายมีตัวเลขเท่ากันเป็นอย่างน้อยได้แล้วนั้น พวกเขาก็จะโดนแบนจากการลงเล่นรายการของทวีปยุโรปแบบอัตโนมัติ 1 ซีซั่น
สาเหตุที่ทำให้ มิลาน ได้ลดโทษ เป็นเพราะพวกเขาบอกว่าภายใต้การบริหารทีมของ เอลเลียตต์ เมเนจเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ที่เข้ามาบริหารทีมเมื่อช่วงซัมเมอร์ ปี 2018 นั้น การเงินของทีมจะดีขึ้นแน่นอน
ถึงกระนั้น อย่างน้อยในซีซั่นนี้ มิลาน ก็ชวดเงินจากการเล่นรายการระดับทวีปยุโรปไปแล้ว เพราะที่จริงเมื่อฤดูกาล 2018-19 พวกเขาได้อันดับ 5 ในลีก จนได้สิทธิ์เล่น ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ในซีซั่น 2019-20 แต่สุดท้ายก็ต้องโดนริบสิทธิ์ไปตามที่ถูกลงโทษ